Translate

วันพุธที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2554

บทความที่สะท้อนความเป็นจริง??ต้นตอของปัญหาการบุกรุกที่ดินวังน้ำเขียว

อ่านบทความนี้ของเหล่าเพื่อนๆๆที่อยู่วังน้ำเขียวมาตั้งแต่เกิดจนปัจจุบันแล้วหลากหลายความรู้สึกทั้งเห็นใจและสงสารแต่ก็ยังยอมรับไม่ได้กับการขึ้นไปทำเขาหัวโล้นจนไม่มีป่าเหลืออยู่เลยกับนโยบายที่ผิดพลาดของหน่วยงานของรัฐความเป็นจริงแล้ว ส.ป.ก.รับมอบพื้นที่ป่าสงวนจากกรมป่าไม้ ไม่ได้มีเฉพาะพื้นที่ที่มีศักยภาพทำเกษตรกรรมเท่านั้น ยังมีพื้นที่สาธารณูปโภค เช่น วัด โรงเรียน สถานที่ราชการ และการทำถนนเข้ามาในเขตปฏิรูปที่ดิน รวมไปถึงแร่ในที่ดิน ซึ่งสามารถขออนุญาตจากกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ และขอใช้ประโยชน์ที่ดินจากส.ป.ก. แต่ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญที่เป็นปัญหาในขณะนี้ คือการบุกรุกพื้นที่ส.ป.ก. เพื่อก่อสร้างรีสอร์ต บ้านพักตากอากาศ และโฮมสเตย์ หากพิจารณาตาม พ.ร.บ.ปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม มาตรา 30 วรรค 5 และตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ข้อที่ 1.5 เรื่องกิจกรรมการบริการ ความเป็นอยู่ เศรษฐกิจ และสังคม ระบุว่า รีสอร์ต บ้านพักตากอากาศ หรือโฮมสเตย์ เป็นกิจกรรมท่องเที่ยว เชิงอนุรักษ์ ซึ่งโดยหลักเกณฑ์ต้องนำเสนอคณะกรรมการส.ป.ก. เพื่ออนุมัติให้ดำเนินการ โดยมีเงื่อนไขการเสียค่าตอบแทนให้ส.ป.ก. เพื่อนำไปเป็นเงินกองทุนปฏิรูปที่ดินได้ และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม รวมถึงต้องมีการปลูกต้นไม้ทดแทนออกมาในรูปของแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ซึ่งในหลักเกณฑ์ดังกล่าวนี้ ทางสปก นครราชสีมาก็ได้ให้ทางมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมาทำการศึกษาวิจัยความเป็นไปได้ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาต่างๆที่จะเกิดขึ้นและเตรียมที่จะนำเสนอไปยังหน่วยงานต้นสังกัดเพื่อให้พิจารณาเสนอต่อ ครม. ให้กำหนดกรอบแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนและพิจารณาประเด็นดังกล่าว  เนื่องจากที่ผ่านมากฏหมายที่กำหนดไว้ยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์พื้นที่ ส.ป.ก.ว่าจะอนุญาตให้ใช้พื้นที่ได้ในกรณีใดบ้าง แต่ก็เกิดปัญหาการบุกรุกที่กรมป่าไม้และลุกลามมาถึงที่ดิน สปก. จนกระทั่งมีการสั่งการให้ตรวจสอบเพื่อเอาผิดกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดดังกล่าว  ซึ่งเมื่อมาวันนี้ทางนโยบายจากส่วนกลางสั่งการลงมาให้ดำเนินการเอาผิดกับผู้กระทำผิดอย่างเด็ดขาด ทางสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครราชสีมาเองก็ต้องดำเนินการตามนั้น ส่วนประเด็นนี้ก็ต้องรอการพิจารณาต่อไป
ทาง สปก.เตรียมคลอดโมเดลแก้รุกวังน้ำเขียว ชงรมว.เกษตร
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ -นายสถิตย์พงษ์ สุดชูเกียรติ รองเลขาธิการสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หรือ สปก. กล่าวถึงความคืบหน้าในการตรวจสอบการใช้ประโชยน์ ในพื้นที่ สปก. ในเขต อ.วังน้ำเขียว จ. นครราชสีมาว่า ผลการตรวจสอบล่าสุด สรุปมีการดำเนินการตรวจสอบไปแล้วถึง 94.18 % คือ 6,039 จำนวน 7,450 แปลง จากทั้งหมด 6,412 ราย ถูกระเบียบ 4,110 ราย ผิดระเบียบ 1,929 ราย (ผิดระเบียบ 31.94%)
โดย ตำบลไทยสามัคคี จำนวน 522 ราย 649แปลง ถูกระเบียบ 342 ราย 460 แปลง ผิดระเบียบ 180 ราย 189 แปลง 34.48 % เช่น สร้างรีสอร์ท ขาย ให้เช่า ทิ้งร้าง ให้ทำประโยชน์ฟรี ขายบางส่วน ตำบลระเริง จำนวน 1,063 ราย 1,273 แปลง ถูกระเบียบ 727 ราย 896 แปลง ผิดระเบียบ 336 ราย 377 แปลง ๓1.60% เช่น สร้างรีสอร์ท ขาย ให้เช่า ทิ้งร้าง ให้ทำประโยชน์ฟรี ขายหรือให้เช่าบางส่วน
ส่วน ตำบลวังน้ำเขียว จำนวน 1,472 ราย 1,728 แปลง ถูกระเบียบ 785 ราย 929 แปลง ผิดระเบียบ 687 ราย 799 แปลง 46.67% เช่น สร้างรีสอร์ท ขาย ให้เช่า ทิ้งร้าง ให้ทำประโยชน์ฟรี ขายหรือให้เช่าบางส่วน ตำบลวังหมี จำนวน 1,698 ราย 2,033 แปลง ถูกระเบียบ 1,265 ราย 1,539 แปลง ผิดระเบียบ 433 ราย 494 แปลง 25.50% เช่น สร้างรีสอร์ท ขาย ให้เช่า ทิ้งร้าง ให้ทำประโยชน์ฟรี ขายหรือให้เช่าบางส่วน ตำบลอุดมทรัพย์ จำนวน 1,284 ราย 1,767 แปลง ถูกระเบียบ 991 ราย 1,407 แปลง ผิดระเบียบ 293 ราย 360 แปลง 22.81% เช่น สร้างรีสอร์ท ขาย ให้เช่า ทิ้งร้าง ให้ทำประโยชน์ฟรี ขายหรือให้เช่าบางส่วน
ทั้งนี้ ในส่วนผลการตรวจสอบพื้นที่สร้างรีสอร์ท ร้านอาหาร ที่พัก (เพื่อการท่องเที่ยว) และอื่นๆจับพิกัดในเขตปฏิรูปที่ดินทั้งจัดที่ดินแล้ว และยังไม่จัดที่ดิน (พื้นที่เขตปฏิรูปที่ดินอำเภอ วังน้ำเขียว 241,018 ไร่)ตำบลคือ วังหมี อุดมทรัพย์ ระเริง วังน้ำเขียวและไทยสามัคคี พบจำนวน 120 แห่ง ตรวจสอบไว้เดิม21 แห่ง พบใหม่ 99 แห่ง ซึ่งเป็นการ สร้าง รีสอร์ท/โรงแรม 66 แห่งร้านอาหาร 4 แห่งบ้านพัก/ที่พัก และมีแปลงเกษตร 24 แห่งร้านค้า 3 แห่งปั๊มน้ำมัน 1 แห่งโรงงานผสมคอนกรีต 1 แห่ง
โดย 120 แห่ง ได้เข้าพบและให้ข้อมูลจนท.13 แห่ง ในจำนวนนี้ขอขยายเวลาการชี้แจงออกไป 30 วัน 5 แห่ง 8 แห่งได้ทำคำชี้แจงมาแล้ว ส่วน 8 แห่งไม่มีการชี้แจงเข้ามาซึ่ง สปก.จะทำหนังสือแจ้งให้ออกจากพื้นที่ภายใน 30 วัน หากไม่ออกจากพื้นที่ก็จะตามกฏหมายต่อไป
ทั้งนี้ 8 แห่ง ดังกล่าว ประกอบไปด้วย ภูเคียงลม ภูผาหยก ไร่จวนทอง ฮอลิเดย์รีสอร์ท ครัวริมเขื่อน มะฮอกกานีฮิลล์และเจ้าของรีสอร์ทไม่ทราบชื่อ โกล์ดเมาเท่น์ สปก.ได้จัดทำโมเดลการแก้ปํญหาวังน้ำเขียว โดยแบ่งประเภทผู้ครอบครองที่ดิน คือ ประเภทที่หนึ่งได้รับการจัดที่ดินถูกระเบียบ สองผู้ได้รับการจัดที่ดิน ผิดระเบียบสามผู้ซื้อสิทธ์ สี่ยังไม่ได้รับการจัดที่ดิน(บุกรุก)อย่างไรก็ตามในบางกรณีอาจผ่อนปรนกันได้ เช่น เกษตรกรยังทำการเกษตรเป็นส่วนใหญ่แม้บางรายอาจอาจทำโฮมสเตย์เพื่อหารายได้เสริมถือว่าไม่ทำให้สิ้นสิทธิ์การถือครองที่สปก.แต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม ในบางส่วนที่เป็นคนภายนอกเข้ามาลงทุนโดยรู้กฏหมายว่าตนเองบุกรุกหรือไม่มีสิทธืในพื้นที่ก็จะดำเนินการตามกฏหมายอย่างชัดเจน และในปี2555 สปก.จะดำเนินการตรวจสอบการถือครองที่ดินทั่วประเทศให้เป็นมาตรฐาน ไม่หยุดเพียงแค่วังน้ำเขียวเท่านั้น

 

บทความที่สะท้อนความเป็นจริงของปัญหาที่ดินวังน้ำเขียวได้ตรง และจะแจ้ง

เหตุเกิดที่อำเภอวังน้ำเขียว ใครถูก?–ใครผิด? โดย 'อนันต์ ดาโลดม' นายกสมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย อดีตส.ว.สุราษฎร์ธานี ชี้ชัด ต้นเหตุปัญหามาจากนโยบายรัฐ ซัด 'กรมอุทยานฯ-กรมป่าไม้' มีวาระซ่อนเร้น

          ในช่วงเดือนกรกฎาคม มีข่าวใหญ่เกิดขึ้นมากมาย เริ่มตั้งแต่การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 เฮลิคอปเตอร์ของกองทัพบกที่เข้าไปปฏิบัติการ ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานตก ถึง 3 ลำ ตั้งแต่วันที่ 16, 19 และ 24 กรกฎาคม 2554 ติดต่อกันมา นำความเศร้าโศกเสียใจต่อครอบครัว ญาติพี่น้อง และประชาชนคนไทยส่วนใหญ่ต่อความสูญเสียทหารกล้า รวมทั้งสื่อมวลชนถึง 17 คน ในเวลาใกล้เคียงกัน


          และข่าวใหญ่ที่เกิดขึ้นในช่วงเดียวกัน คือ การเข้าปฏิบัติการจับกุม กวาดล้างผู้บุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ และบุกรุกพื้นที่ สปก. ในอำเภอวังน้ำเขียว จังหวัด นครราชสีมา ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ผนวกกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมป่าไม้ และสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
          การออกปฏิบัติการของหน่วยงานทั้ง 2 กระทรวง เป็นข่าวครึกโครม โดยการประชาสัมพันธ์ ทั้งทางวิทยุ โทรทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์ และอินเตอร์เน็ต รวมทั้งการวิพากษ์วิจารณ์เสนอข่าวของสื่อมวลชน ทำให้ปฏิบัติการครั้งนี้ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง และต่อเนื่องมาโดยตลอด
          อำเภอวังน้ำเขียวในมุมมองของผู้ซึ่งเคยไปทำงาน ไปเที่ยวอำเภอวังน้ำเขียว ใน ช่วงระยะเวลา 30 ปี ที่ผ่านมา และในฐานะนักเกษตร ผู้บริหารการเกษตรของหน่วยงานภาครัฐ สมาชิกวุฒิสภา (สายเกษตร) ผู้บริหารธุรกิจเกษตร ภาคเอกชน และองค์กรวิชาชีพด้านการเกษตร

สาเหตุของปัญหา

          ก่อนหน้า 40 ปี ที่ผ่านมา ในพื้นที่อำเภอวังน้ำเขียว โดย เฉพาะหมู่บ้านที่เกิดขึ้นในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ซึ่งมีภูเขาสลับซับซ้อนมาก เป็นเขตแทรกซึมของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ประชากรส่วนใหญ่จะมาจากพื้นที่หลายจังหวัด จับจองพื้นที่เพื่อทำการเกษตรได้เกิดขึ้น หลังจากพื้นที่ป่าสัมปทานที่กรมป่าไม้ ได้อนุญาตให้เอกชนได้รับสัมปทานป่าไม้ในพื้นที่ป่าสงวน ซึ่งมีจำนวนหลายหมื่นไร่
          และเมื่อพื้นที่ป่าไม้ที่เคยอุดมสมบูรณ์ได้ถูกตัด ชักลากออกไปจากผู้ได้รับสัมปทาน เหลือแต่ตอไม้ พื้นดินว่างเปล่า หมดอายุสัมปทาน ทำให้ราษฎรที่อาศัยอยู่ดั้งเดิม รวมทั้งราษฎรที่อพยพมาจากหลายจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น นครราชสีมา ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ อุบลราชธานี จากภาคกลาง เช่น สระบุรี จากภาคตะวันออก เช่น ปราจีนบุรี และอีกหลายจังหวัดทางภาคเหนือ ได้เข้าไปจับจองทำการเกษตรโดยการเผาตอไม้ ปรับสภาพพื้นที่เพื่อปลูกพืชไร่ เช่น ข้าวโพด มันสำปะหลัง
          ซึ่งเป็นต้นเหตุการณ์พังทลายของหน้าดิน เกิดการชะล้างอย่างมากมาย เนื่องจากพื้นที่เหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ลาดชัน ไม่เหมาะสำหรับการปลูกพืชไร่ และหลังจากสภาพพื้นดินเสื่อมโทรม การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ให้ผลผลิตต่ำ เกษตรกรและชาวบ้านเหล่านี้ ก็ขายพื้นที่ให้แก่นายทุน หรือผู้ที่สนใจที่ได้สัมผัสกับความสวยงามของภูมิประเทศ และอากาศที่เย็นสบาย
          แล้วราษฎรเหล่านี้ก็ไปบุกรุกพื้นที่ป่าต่อไปเรื่อยๆ เพื่อทำการเกษตรโดยที่เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่สามารถหยุดยั้งได้
          จากความหลากหลายของผู้ที่อพยพไปอยู่ในพื้นที่อำเภอวังน้ำเขียว ดัง นั้นภาษาพูดและวัฒนธรรมประเพณี จึงมีความหลากหลาย  ประชากรเหล่านี้ได้เข้าไปจับจองพื้นที่ของรัฐ ประกอบอาชีพทำการเกษตรเป็นส่วนใหญ่ และกลายเป็นชุมชนที่ใหญ่ขึ้น
          ตั้งแต่ปี 2530 เป็นต้นมา ก็มีบุคคลบางส่วนจากกรุงเทพมหานคร ผู้รักธรรมชาติ ข้าราชการเกษียณอายุ นักธุรกิจ ที่ได้ไปพบเห็นสภาพพื้นที่และสัมผัสกับอากาศที่เย็นสบาย จึงได้เข้าไปซื้อที่ดินจากราษฎรที่อพยพเข้าไปจับจองพื้นที่ก่อนหน้านี้ ซึ่งคนเหล่านี้ระยะแรกก็ต้องต่อสู้กับความธุรกันดาร ไม่มีถนน ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีประปา แต่ด้วยสภาพดินฟ้าอากาศและความสวยงามของภูมิประเทศ บุคคลเหล่านี้และคนรุ่นหลังที่มีฐานะและชอบบรรยากาศก็ได้มีการเข้ามาหาซื้อ ที่ดินจากราษฎร และเกษตรกร ก่อสร้างบ้านพัก รวมทั้งลงทุนในการสร้างรีสอร์ท เพื่อรองรับผู้ที่ชอบบรรยากาศและความสงบที่มาท่องเที่ยววังน้ำเขียวมากขึ้น
          จนถึงปัจจุบันนี้ มีบ้านพักและรีสอร์ทที่รองรับนักท่องเที่ยวเกิดขึ้นที่อำเภอวังน้ำเขียวเท่า ที่สำรวจได้มีมากกว่า 500 รีสอร์ท จนกลายเป็นปัญหาในการบุกรุกพื้นที่วนอุทยานแห่งชาติ ป่าสงวนแห่งชาติ พื้นที่ สปก. ร่วมกับเกษตรกร ราษฎร สถานที่ราชการเกือบทั้งหมดในอำเภอวังน้ำเขียว
สภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศ

          อำเภอวังน้ำเขียว มี สภาพภูมิประเทศล้อมรอบด้วยภูเขาสูงเกือบทุกด้าน บริเวณภายในที่ถูกล้อมรอบด้วยภูเขาสูง จะเป็นเนินเขาใหญ่น้อยสลับกับพื้นที่ลาดชัน ทำให้มีทิวทัศน์ที่สวยงาม มีอากาศที่เย็นสบายเกือบทั้งปีมีฝนตกชุก หลังฝนตก ในตอนเช้าและตอนเย็นจะปกคลุมด้วยหมอกกระจายไปทั่วพื้นที่ ทำให้เกิดความสวยงาม
          อันเป็นที่มาของคำขวัญที่ว่า “วังน้ำเขียว เมืองหนาว ภูเขามากมาย น้ำตกหลากหลาย ผลไม้นานาพรรณ แดนสวรรค์เมืองในหมอก”
          และอำเภอวังน้ำเขียวยังเป็นต้นกำเนิดของลำน้ำมูล ลำพระเพลิง ลำเชียงสา ลำน้ำบางปะกง และมีลำน้ำสาขาย่อยอีกเป็นจำนวนมาก มีระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง เฉลี่ยประมาณ 300 – 700 มิลลิเมตร

ข้อมูลทั่วไปอำเภอวังน้ำเขียว

          อำเภอวังน้ำเขียว เป็นอำเภอหนึ่งที่อยู่ในจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งอดีตนั้นขึ้นกับ อำเภอปักธงชัย ต่อมาในปี 2535 มีการแบ่งการปกครองเป็นกึ่งอำเภอวังน้ำเขียว และในปี 2540 กิ่งอำเภอวังน้ำเขียว ได้ยกฐานะเป็นอำเภอ โดยมีพื้นที่ 5 ตำบล คือ ตำบลอุดมทรัพย์ ตำบลวังน้ำเขียว ตำบลไทยสามัคคี ตำบลระเริง และตำบลวังหมี พื้นที่ส่วนใหญ่ของอำเภอวังน้ำเขียว จะอยู่ในอุทยานแห่งชาติทับลาน จังหวัดปราจีนบุรี และอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา
          อำเภอวังน้ำเขียว มี ขนาดพื้นที่ 1,129.9 ตารางกิโลเมตร หรือ 706,243 ไร่ แต่ในจำนวนพื้นที่ดังกล่าวนี้ จะเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน 173,218 ไร่ พื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ 12,500 ไร่ พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าภูเขาหลวง 78,350 ไร่ ป่ากันคืน สปก. 170,000 ไร่ รวมพื้นที่ของหลวงประมาณ 430,000 ไร่ หรือประมาณ 60% และในจำนวนพื้นที่ที่เหลือประมาณ 270,000 ไร่ เป็นพื้นที่การเกษตร นอกนั้นจะเป็นพื้นที่อยู่อาศัย ถนนหนทาง และสิ่งก่อสร้างต่างๆ
          อำเภอวังน้ำเขียว มี ประชากรทั้งสิ้น (เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2551) 39,006 คน  แยกเป็นชาย 19,505 คน  หญิง 19,501 คน  แต่จำนวนประชากรที่แท้จริงคงจะมากกว่านี้มาก  เนื่องจากบรรดาผู้ที่มีบ้านพัก  สร้างรีสอร์ท  และประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรม และบริการ มีจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้ย้ายสำมะโนครัวมาอยู่อำเภอวังน้ำเขียว

ทรัพยากรดินและทรัพยากรน้ำ

          ดินในอำเภอวังน้ำเขียว ยัง มีความสมบูรณ์อยู่มาก และการประกอบอาชีพเกษตรกรรมในพื้นที่ส่วนใหญ่ คือ การปลูกมันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อย ซึ่งปลูกในพื้นที่ลาดชัน และบางส่วนปลูกในพื้นที่สูงกว่า 35° เมตร จากการที่ได้มีการบุกรุกทำลายป่าและเผาป่า เพื่อมาปลูกพืชไร่ทั้ง 3 ชนิดนี้ ทำให้เกิดการชะล้างสูง คุณภาพของดินเสื่อมโทรม และดินขาดความอุดมสมบูรณ์ได้อย่างรวดเร็ว
          มีพื้นที่ส่วนน้อยที่ปลูกพืชผัก ไม้ดอกไม้ประดับ ผลไม้ รวมทั้งปลูกไม้ยืนต้น เช่น ต้นสัก ยูคาลิปตัส สน ยางพารา ฯลฯ
          การปลูกพืชไร่ คือ มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อย เป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้เกิดการบุกรุกทำลายป่า จากการทำไร่เลื่อนลอย และเกษตรกรประสบปัญหาการขาดทุน ต้องขายที่ดินที่เข้าไปยึดครองให้แก่พ่อค้า นายทุน แล้วเกษตรกรเหล่านี้ก็ไปบุกรุกทำลายป่า จับจองพื้นที่แหล่งใหม่ และก็ปลูกพืชไร่ทั้ง 3 ชนิดนี้อย่างต่อเนื่อง มีการเปลี่ยนมือมาโดยตลอด
          และผู้มีฐานะที่ได้ซื้อที่ดินต่อจากเกษตรกร หรือชาวบ้านที่เข้าไปจับจองพื้นที่อุทยานแห่งชาติ พื้นที่ป่าสงวนหรือแม้แต่พื้นที่ สปก. ที่ รัฐจัดสรรให้มาสร้างเป็นบ้านพัก เป็นรีสอร์ทที่สืบทอดกันมากว่า 20 ปี และหน่วยงานของรัฐเพิ่งมาดำเนินการจับกุม ดำเนินคดีกับเจ้าของรีสอร์ท เจ้าของบ้านพัก ดังที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้
          และถ้าจะดำเนินการทั้งหมด ผู้ประกอบธุรกิจ เจ้าของบ้านพัก และพี่น้องเกษตรกรที่ประกอบอาชีพอยู่ในอำเภอวังน้ำเขียว แม้แต่สถานที่ราชการหลายแห่งก็คงต้องถูกดำเนินคดีด้วย
          และหากเป็นอย่างนั้นจริง ขอถามว่า อะไรจะเกิดขึ้นที่อำเภอวังน้ำเขียว จากการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่ปล่อยปะละเลยให้เกิดการบุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เปลี่ยนมือของเกษตรกรที่ได้รับ สปก. ไปสู่ผู้ซึ่งไม่ได้ประกอบอาชีพการเกษตรตลอดระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมา

ประเด็นที่ควรจะได้มีการพิจารณา

          1.ต้นตอของปัญหาที่แท้จริง น่าจะมาจากนโยบายของรัฐ ที่อนุญาตให้สัมปทานป่าไม้แก่ภาคเอกชน ซึ่งการให้นโยบายสัมปทานป่าไม้แก่เอกชนนี้ ถือเป็นนโยบายที่ผิดพลาดอย่างยิ่ง ที่รัฐสามารถเอาทรัพยากรของแผ่นดินโดยเฉพาะป่าไม้ที่เป็นสมบัติล้ำค่า มีอายุยาวนานกว่าจะมาเป็นต้นไม้ใหญ่ มีความสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อม ดิน ฟ้า อากาศ ที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า และความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งถือว่าเป็นทรัพยากรของทุกคนในแผ่นดิน ที่รัฐในฐานะที่เป็นตัวแทนของประชาชนคนไทยทั้งชาติ จะต้องพึงรักษาไว้ แต่กลับใช้อำนาจไปเอื้อประโยชน์ให้แก่กลุ่มบุคคลเพียงไม่กี่คน ปัญหาที่ตามมา คือ
          1.1พื้นที่สัมปทานป่าไม้ที่รัฐให้สัมปทานแก่เอกชน ไม่เฉพาะแต่อำเภอวังน้ำเขียว หาก รวมทั้งประเทศจะมีจำนวนนับหลายล้านไร่ตลอดเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา ก่อนที่จะมีนโยบายปิดป่าเมื่อปี 2530 เป็นประโยชน์แก่คนไม่กี่ราย แต่ทำลายทรัพยากรป่าไม้ของชาติจำนวนมหาศาล ไม่สามารถฟื้นฟูได้
          1.2ผู้ได้รับสัมปทานไม่ได้ปฏิบัติตามสัญญา คือ การปลูกต้นไม้แทนต้นไม้ที่ถูกตัดในพื้นที่สัมปทาน
          1.3ผู้ได้รับสัมปทาน นอกจากจะตัดไม้ในพื้นที่สัมปทานแล้ว ยังไปลักลอบตัดไม้ในพื้นที่ป่านอกสัมปทาน แล้วนำไม้มาสวมตอว่าเป็นไม้ที่ตัดจากพื้นที่สัมปทาน ดังนั้นพื้นที่ป่าไม้ที่ถูกตัดโค่นจากผู้ได้รับสัมปทาน จึงมีพื้นที่ที่ถูกตัดทำลายไปมากกว่าจำนวนตัวเลขที่ได้รับสัมปทานมากมาย
          1.4เมื่อพื้นที่ป่าไม้เดิมที่ได้รับสัมปทานถูกตัดโคนไป เหลือแต่ตอไม้ ไม่ได้มีการปลูกแทน ขาดการควบคุม จึงเกิดการบุกรุกเข้าไปยึดพื้นที่ทำมาหากินของราษฎรผู้ยากไร้ เผาตอไม้ ทำไร่เลื่อนลอย และขายพื้นที่ให้แก่นายทุนในระยะเวลาต่อมา


          นี่คือต้นตอของปัญหาอันแท้จริง  ของสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้

          2.จากข้อมูลพื้นที่ของอำเภอวังน้ำเขียว ประมาณ 706,000 ไร่ อยู่ในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติ 3 แห่ง และพื้นที่ สปก. รวม กันถึง 430,000 ไร่ และมีพื้นที่อยู่นอกเขตประมาณ 270,000 ไร่ แต่ปรากฏว่าพื้นที่ทั้งหมดในอำเภอวังน้ำเขียวไม่สามารถที่จะออกโฉนดได้เลย หรือแม้แต่เป็น นส. 3
          ดังนั้น พื้นที่ที่เอกชนหรือเกษตรกรถือครองที่อยู่นอกพื้นที่ของรัฐเหล่านี้ และมีการเปลี่ยนมือซื้อขายกันมาอย่างต่อเนื่องไม่สามารถเอาไปทำนิติกรรมใดๆ ได้เลย  จึงเป็นข้อที่น่าสงสัยว่า พื้นที่ของอำเภอวังน้ำเขียวจะต้องเป็นของรัฐทั้งหมด ดังนั้นผู้ที่เข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ ยกเว้นเกษตรกรที่ได้รับการจัดสรรจาก สปก.  จึงเป็นผู้ที่บุกรุกพื้นที่ของรัฐและกระทำผิดกฏหมายทั้งหมด
          3.พื้นที่ สปก. ที่ รัฐจัดสรรให้แก่เกษตรกร หรือพื้นที่ที่เกษตรกรบุกรุก ไม่ได้รับการแนะนำในการใช้พื้นที่ให้เหมาะสมกับศักยภาพ  แต่ปล่อยให้เกษตรกรทำการเกษตรตามยถากรรม โดยเฉพาะการเผาป่า เผาหญ้า ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ลาดชัน ปลูกอ้อย ปลูกมันสำปะหลัง ซึ่งเป็นพืชที่ทำให้เกิดปัญหาในการทำลายความอุดมสมบูรณ์ของดิน ทำลายหน้าดิน และในสภาพที่พื้นที่เป็นที่ลาดชัน เป็นเนินเขาสลับซับซ้อน เมื่อฝนตกโดยเฉพาะหน้าฝนที่มีฝนตกหนักมากในอำเภอวังน้ำเขียว ทำให้ เกิดปัญหาชะล้าง ทำลายหน้าดิน พัดเอาดินลงมาสู่พื้นล่าง ลำธาร ลำคลองอย่างรุนแรง กลายเป็นเนินเขาหัวโล้นที่ได้พบเห็นโดยทั่วไปในปัจจุบันนี้
          ยกเว้นแต่พื้นที่มีการก่อสร้างเป็นบ้านพัก เป็นรีสอร์ท หรือเป็นโฮมสเตย์ เพื่อเป็นที่อยู่อาศัย หรือรองรับนักท่องเที่ยวที่ส่วนใหญ่เจ้าของจะมีการปลูกไม้ยืนต้น ไม้ประดับ ดอกไม้พรรณไม้ชนิดต่างๆ ที่มีส่วนสำคัญทำให้พื้นที่อำเภอวังน้ำเขียวที่ถูกทำลายโดยการปลูกพืชไร่ดัง ได้กล่าวมาแล้ว กลับคืนมาเป็นบางส่วน
          4.ด้วยสภาพพื้นที่และภูมิอากาศที่ฤดูร้อนอุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 20 - 35◦C และตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน - เดือนมกราคม  อุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ 9 - 16◦C  และมีปริมาณน้ำฝน เฉลี่ยทั้งปีถึงประมาณ 1,200 - 1,300 มิลลิเมตร  ลักษณะเช่นนี้ สามารถที่จะปลูกพืชที่ให้ผลตอบแทนสูง เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมีความยั่งยืน ไม่ทำลายสภาพแวดล้อม เช่น การปลูกดอกไม้ ปลูกกล้วยไม้ พืชผักเมืองร้อน และพืชผักเมืองหนาว เพาะเห็ด ผลไม้ และไม้ยืนต้นอื่นๆ เช่น กาแฟ ยางพาราได้เป็นอย่างดี
          ความจริงเกษตรกร และประชาชนในอำเภอวังน้ำเขียว ได้ มีการปลูกดอกไม้ เช่น เบญจมาศ หน้าวัว และกล้วยไม้มาเป็นระยะหนึ่งแล้ว  โดยเฉพาะการปลูกเบญจมาศเพื่อเป็นการสร้างรายได้ และส่งเสริมการท่องเที่ยว จนสามารถจัดเป็นเทศบาลดอกเบญจมาศบาน ของตำบลไทยสามัคคี ติดต่อกันมาถึง 9 ปี
          มีฟาร์มเพาะเห็ดที่มีชื่อเสียงมีคุณภาพ มีไร่องุ่นที่สามารถขายเป็นองุ่นบริโภคสด และผลิตเป็นไวน์ที่มีคุณภาพ การปลูกผักไร้สารที่สามารถส่งเข้าสู่ Supermarket ในกรุงเทพมหานคร และบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)  รวมทั้งการปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้ เพื่อการส่งออก
          โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปลูกพุทรานมสดที่เทคโนโลยีการผลิตโดยเฉพาะ ทำให้พุทราของอำเภอวังน้ำเขียวเป็นพุทราที่มีรสชาติอร่อยที่สุด ขายได้ราคาแพงที่สุด เหนือว่าพุทราของพื้นที่อื่นๆ ในประเทศไทย
          และในปัจจุบันก็ยังมีพืชตัวใหม่ที่จะสร้างป่า สร้างความชุ่มชื้น โดยการใช้ที่ดินให้เหมาะสมกับศักยภาพ คือ การปลูกยางพารา และการปลูกกาแฟที่มีเอกชน และเกษตรกรหลายรายดำเนินการอยู่ในขณะนี้
          แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าหน่วยงานของรัฐไม่ได้ทำการส่งเสริมและสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงอาชีพทางการเกษตรให้แก่เกษตรกรวังน้ำเขียว จากการที่เคยปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง อ้อย ที่มีปัญหาการใช้พื้นที่ ทำลายสภาพแวดล้อม
          และประการสำคัญที่สุด คือ เกษตรกรที่ปลูกพืชทั้ง 3 ชนิดนี้ ไม่สามารถรักษาที่ดินของตัวเองไว้ได้ เพราะประสบปัญหาการขาดทุน เป็นหนี้สิน จนต้องขายที่ดินให้แก่พ่อค้านายทุน และเปลี่ยนสภาพจากการเป็นเกษตรกรเจ้าของที่ดิน กลายมาเป็นผู้เช่าที่ดินของตนเองแทน  นี่คือความจริงที่เกิดขึ้นในอำเภอวังน้ำเขียว โดยที่ เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่เคยที่จะศึกษาหาทางแก้ไขต้นตอของปัญหา ปล่อยให้เกษตรกรต้องต่อสู้และผจญปัญหาจนวังน้ำเขียวกลายมามีสภาพดังปรากฏใน ปัจจุบัน
          เกษตรกรที่อยู่ได้อย่างยั่งยืนที่อำเภอวังน้ำเขียว เท่าที่สังเกตดูคือ เกษตรกรที่ได้รับจัดสรรที่ดินจาก สปก. และ ใช้พื้นที่เพื่อปลูกพืชผักไร้สารตามแนวพระราชดำริ หรือเกษตรกรที่ทำการเกษตรในนิคมสหกรณ์การเกษตรเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งได้รับการดูแลและการสนับสนุนโครงการจากสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อ เกษตรกรรม (สปก.) ในการจัดหาแหล่งน้ำ เพื่อปลูกพืชผักและกรมส่งเสริมสหกรณ์ที่ช่วยเหลือทางด้านการตลาดให้แก่ สมาชิก
          แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า โครงการเหล่านี้ยังไม่สามารถขยายออกไปได้มากนัก เพราะความจำกัดทางด้านงบประมาณของ สปก. ในการจัดหาแหล่งน้ำ และงบประมาณในการส่งเสริมให้ความรู้แก่เกษตรกรที่อยู่ในโครงการอย่างเพียงพอ
          5.จากการที่เกษตรกรจำนวนมากที่ต้องสูญเสียที่ดินที่ได้จากการบุกรุกหรือได้รับการจัดสรรจาก สปก. และ จากพื้นที่ป่ากลายมาเป็นชุมชน มาเป็นเมือง มีผู้ที่มาลงทุนซื้อที่ดิน ปลูกบ้านพัก สร้างรีสอร์ท โฮมสเตย์ หรือแม้แต่อาชีพทำการเกษตร
          ประกอบกับมีนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวที่วังน้ำเขียวแต่ละปีนับเป็นจำนวน หลายแสนคน ทำให้ชาวอำเภอวังน้ำเขียวหรือเกษตรกรที่สูญเสียที่ดิน รวมทั้งลูกหลานก็ได้อาศัยสถานที่ประกอบการเหล่านี้เป็นแหล่งรายได้ คือ การไปเป็นลูกจ้าง พนักงานทำงานในรีสอร์ท ภัตตาคาร ร้านอาหาร สถานที่ประกอบการ หรือเป็นแรงงานในภาคการเกษตร จนกลายเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของชาวอำเภอวังน้ำเขียว
          ทำให้ชาวอำเภอวังน้ำเขียว ทั้ง หัวหน้าครอบครัว และลูกหลานไม่ต้องละทิ้งถิ่นฐานบ้านเรือนไปหางานทำในกรุงเทพมหานคร หรือในโรงงานอุตสาหกรรมเหมือนกับชาวบ้านในจังหวัดอื่นๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
          อัตราค่าจ้างแรงงานต่อวัน ของอำเภอวังน้ำเขียว จะมีอัตราสูงกว่าทุกจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เฉลี่ยจะอยู่ที่ 200 – 220 ต่อวัน/คน ไม่เคยมีคนตกงานที่อำเภอวังน้ำเขียว
          ดังนั้น สภาพเศรษฐกิจของอำเภอวังน้ำเขียว จึง ค่อนข้างดี มีการจ้างงาน มีการกระจายรายได้จากการลงทุน หรือการมาพักอาศัยของผู้ที่มาประกอบการสูงมาก ค่าครองชีพของอำเภอวังน้ำเขียวค่อนข้างสูง แต่ทุกคนอยู่ได้
          สภาพเศรษฐกิจที่ดีของอำเภอวังน้ำเขียว ที่ ได้จากการจ้างงานและกระจายรายได้จากการลงทุนของผู้ประกอบการ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว ทำให้อำเภอวังน้ำเขียวเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวมีความสุขที่สุด อำเภอวังน้ำเขียวไม่มีขโมย ผมไปทำงานใช้ชีวิตอยู่อำเภอวังน้ำเขียวประมาณ 2 ปี รวมทั้งการไปจัดงาน “วังน้ำเขียว ฟลอร่า แฟนตาเซีย” เมื่อปี 2553 ไม่ปรากฏว่าอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือที่มีจำนวนมากมายสูญหายจากการลักขโมย
          แม้แต่พื้นที่ที่ผมไปส่งเสริมการปลูกผัก ปลูกกาแฟ ปลูกยางพารา ปลูกไม้ผล บ้านหลังเล็กๆ ไม่มีรั้ว ไม่มีที่กั้น ไม่เคยมีของหาย รวมทั้งการบอกเล่าของผู้อาศัยอยู่ ณ อำเภอวังน้ำเขียวมาเป็นเวลาหลายปี ทุกคนกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า “ที่นี่มีความปลอดภัยสูง” ไม่มียาเสพติด อาชาญกรรมน้อยมาก ไม่มีแหล่งโสเภณี คนที่อยู่วังน้ำเขียวรักอำเภอวังน้ำเขียว คนต่างถิ่นที่มาเยือนวังน้ำเขียวรักอำเภอวังน้ำเขียว อยากสร้างสิ่งดีๆ ให้อำเภอวังน้ำเขียว
          6.ผมเป็นนักเกษตร  เมื่อได้เห็นการประกอบอาชีพการเกษตรของพี่น้องเกษตรกรอำเภอวังน้ำเขียว ก็ สามารถคาดการณ์ถึงอนาคตที่จะเกิดขึ้นกับอำเภอวังน้ำเขียว  หากปล่อยให้เกษตรกร  ยังคงปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง  อ้อย  ไปอย่างต่อเนื่อง จะเป็นการทำลายทั้งตัวเกษตรกรเอง การทำลายสภาพแวดล้อมจากการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช การพังทลายของดินจากการถูกชะล้าง การก่อเกิดปัญหาสภาวะโลกร้อนจากการเผาวัชพืช  เผาอ้อย  เผาซังข้าวโพด เพื่อปลูกในฤดูต่อไป